วันเสาร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2553

ยืม VS ฝากทรัพย์

สัญญายืมแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือสัญญายืมใช้คงรูปและสัญญาใช้สิ้นเปลือง

ข้อแตกต่างในสาระสำคัญคือ สัญญายืมใช้สิ้นเปลืองเป็นสัญญาที่ผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ประเภทใช้ให้หมดเปลืองไปให้แก่ผู้ยืมไป และผู้ยืมต้องคืนทรัพย์อันเป็นประเภทชนิดเดียวกัน มีปริมาณเท่ากันให้แก่ผู้ให้ยืม แต่สัญญายืมใช้คงรูปนั้นลักษณะของการใช้ทรัพย์มิได้สิ้นเปลืองหมดไป หรือเสียภาวะเสื่อมสลายไป สัญญายืมใช้คงรูปจึงไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ให้แก่ผู้ยืม และผู้ยืมต้องคืนทรัพย์อันเดียวกับที่ยืมไปนั้นให้แก่ผู้ให้ยืมเมื่อได้ใช้สอยทรัพย์นั้นเสร็จสิ้นแล้ว

สัญญายืมใช้คงรูปนอกจากจะมีสาระสำคัญตามลักษณะโดยทั่วไปของสัญญายืม กล่าวคือ เป็นสัญญาไม่ต่างตอบแทน ซึ่งมีวัตถุแห่งสัญญาเป็นทรัพย์สิน และมีผลสมบูรณ์เมื่อมีการส่งมอบทรัพย์ที่ให้ยืมแล้วยังมีลักษณะเฉพาะที่สำคัญซึ่งแตกต่างไปจากสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ สัญญายืมใช้คงรูปเป็นสัญญาไม่มีค่าตอบแทนและเป็นสัญญาซึ่งกรรมสิทธิ์มนทรัพย์สินที่ให้ยืมมิได้โอนไปยังผู้ยืม ผู้ยืมจึงต้องคืนทรัพย์อันเดิมกับที่ได้ยืมไปนั้นให้แก่ผู้ยืม

ยืมใช้สิ้นเปลือง

1. สัญญายืมใช้สิ้นเปลืองมีลักษณะเฉพาะอันเป็นสาระสำคัญ นอกเหนือไปจากลักษณะทั่วไปของสัญญายืม คือเป็นสัญญาที่อาจมีค่าตอบแทนได้และเป็นสัญญาที่กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ยืมโอนไปยังผู้ยืม วัตถุแห่งสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองเป็นทรัพย์ประเภทใช้สิ้นไป ซึ่งอาจใช้ทรัพย์อื่นอันเป็นประเภท ชนิด และปริมาณเดียวกันแทนได้

2. ผู้ยืมใช้สิ้นเปลืองมีสิทธิใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมตามความพอใจโดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องการใช้หรือสงวนรักษาทรัพย์สิน แต่ก็มีหน้าที่ในการเสียค่าใช้จ่ายตามสัญญา และต้องส่งคืนทรัพย์สินอันเป็นประเภท ชนิด และปริมาณเดียวกับที่ยืมไปให้แก่ผู้ให้ยืมเมื่อถึงกำหนดเวลาส่งมอบ

3. ผู้ให้ยืมใช้สิ้นเปลืองมีสิทธิเรียกทรัพย์สินคืนหรือเรียกให้ใช้ราคาทรัพย์สินที่ยืม เมื่อถึงกำหนด เวลาส่งคืน และมีหน้าที่แจ้งความชำรุดบกพร่องของทรัพย์สินที่ยืมซึ่งผู้ให้ยืมได้รู้อยู่แล้วก่อนการส่งมอบให้ผู้ยืมทราบ มิฉะนั้นจะต้องรับผิดต่อผู้ยืมหากเกิดความเสียหายขึ้น

สัญญายืมใช้สิ้นเปลืองนอกจากจะมีสาระสำคัญ อันเป็นลักษณะทั่วไปของสัญญายืมร่วมอยู่กับสัญญายืมใช้คงรูป กล่าวคือ เป็นสัญญาไม่ต่างตอบแทนและมีผลบริบูรณ์เมื่อมีการส่งมอบทรัพย์สินที่ให้ยืมแล้ว ยังมีลักษณะเฉพาะที่สำคัญที่แตกต่างไปจากสัญญายืมใช้คงรูปโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ สัญญายืมใช้สิ้นเปลืองนั้นอาจเป็นสัญญาที่มีค่าตอบแทนก็ได้ และเป็นสัญญาที่ผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินประเภทใช้ไปสิ้นไป คือเสื่อมภาวะสลายไปให้แก่ผู้ยืม โดยที่ผู้ยืมต้องคืนทรัพย์อันเป็นประเภท ชนิด และปริมาณเดียวกันกับที่ยืมไป ให้แก่ผู้ให้ยืมเมื่อถึงกำหนดจะต้องส่งคืน

สัญญาฝากทรัพย์

1. สัญญาฝากทรัพย์ เป็นชื่อของเอกเทศสัญญาลักษณะหนึ่งที่กฎหมายบัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองบุคคลที่เรียกว่า “ผู้ฝาก” กับบุคคลอีกคนหนึ่งที่เรียกว่า “ผู้รับฝาก” โดยกำหนดสิทธิและหน้าที่ระหว่างกันตลอดจนความระงับแห่งสิทธิและหน้าที่ดังกล่าว และข้อกำหนดว่าด้วยอายุความ

2. การฝากเงิน มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากการฝากทรัพย์ธรรมดา จึงต้องบัญญัติกำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้ฝากเงินและผู้รับฝากเงินขึ้นเฉพาะ

3. การฝากทรัพย์กับเจ้าสำนักโรงแรม มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากการฝากทรัพย์ธรรมดา กฎหมายได้บัญญัติสิทธิหน้าที่ของคนเดินทางกับเจ้าสำนักโรงแรมขึ้นเฉพาะ และกำหนดอายุความใช้ค่าทดแทนเพื่อทรัพย์สินคนเดินทางสูญหายหรือบุบสลายเป็นกรณีพิเศษไว้ด้วย

ลักษณะทั่วไปของสัญญาฝากทรัพย์

1. ลักษณะของสัญญาฝากทรัพย์นั้น ผู้รับฝากต้องเก็บรักษาทรัพย์สินไว้ในอารักขาแห่งตนแล้วจะคืนให้ โดยผู้รับฝากไม่ได้รับบำเหน็จค่าฝาก เว้นแต่มีข้อตกลงหรือพึงคาดหมายได้ โดยพฤติการณ์ว่ามีบำเหน็จค่าฝาก ความบริบูรณ์ของสัญญาฝากทรัพย์นั้น อยู่ที่การส่งมอบทรัพย์สินที่ฝาก โดยไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือมีแบบพิเศษแต่อย่างใด

2. ผู้รับฝากมีหน้าที่อยู่ 4 ประการคือ สงวนรักษาทรัพย์สินที่ฝาก งดเว้นการใช้สอยทรัพย์สินหรือให้คนอื่นเก็บรักษาทรัพย์ที่ฝาก บอกกล่าวแก่ผู้ฝากเมื่อถูกฟ้องหรือถูกยึดทรัพย์สินที่ฝากและมีหน้าที่คืนทรัพย์สินที่ฝากพร้อมดอกผล ส่วนสิทธิของผู้รับฝากมีอยู่ 4 ประการได้แก่ สิทธิเรียกค่าใช้จ่ายในการคืนทรัพย์และสงวนรักษาทรัพย์ สิทธิเรียกบำเหน็จค่าฝากและสิทธิยึดหน่วงทรัพย์สินที่ฝาก

3. ผู้ฝากมีหน้าที่อยู่ 3 ประการคือ หน้าที่ค่าใช้จ่ายคืนทรัพย์ หน้าที่เสียค่าใช้จ่ายในการสงวนรักษาทรัพย์ และหน้าที่ชำระบำเหน็จค่าฝากตามข้อตกลง ส่วนสิทธิของผู้ฝากมีอยู่ 3 ประการ ได้แก่ สิทธิฟ้องบังคับให้สงวนรักษาทรัพย์ ห้ามใช้สอยหรือให้ห้ามคนอื่นเก็บรักษาสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ และสิทธิในการเรียกคืนทรัพย์และดอกผล

4. สัญญาฝากทรัพย์ระงับด้วยเหตุ 4 ประการคือ ระงับตามข้อตกลง ระงับเมื่อส่งทรัพย์คืน ระงับเมื่อทรัพย์สูญหายหรือทำลายไปหมด หรือบุคคลภายนอกยึดทรัพย์ที่รับฝากไปโดยชอบและระงับเมื่อผู้รับฝากตาย

5. อายุความในเรื่องฝากทรัพย์แบ่งเป็นอายุความพิเศษ ซึ่งมีกำหนดเวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้น กับอายุความเรียกคืนทรัพย์ที่ฝากซึ่งมีกำหนดเวลา 10 ปี


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น